ประเทศเนปาล Nepal


ประเทศเนปาล (เนปาล: नेपाल) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียใต้ บริเวณเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนติดกับทิเบตของจีน และประเทศอินเดีย เนปาลเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบราชาธิปไตยมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2550 โดยก่อนปีพ.ศ. 2549 เนปาลเคยเป็นรัฐเดียวในโลกที่มีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเนปาลระบุให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐโลกวิสัย นอกจากศาสนาฮินดูที่คนเนปาลส่วนใหญ่นับถือแล้ว เนปาลยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญของพุทธศาสนา คือลุมพินีวัน ที่ประสูติของพระโคตมพุทธเจ้า

ประวัติศาสตร์
ก่อนปีพ.ศ. 2311 หุบเขากาฐมาณฑุแบ่งออกเป็นสามอาณาจักร จนกระทั่งผู้นำเผ่ากุรข่า ปฤฐวี นารายัณ ศาห์ สามารถรวบรวมอาณาจักรในหุบเขาเข้าด้วยกัน และหลังจากนั้นได้ทำสงครามขยายอาณาเขตออกไป จนในปีพ.ศ. 2357-พ.ศ. 2359 เกิดสงครามอังกฤษ-เนปาล กองทัพกุรข่าพ่ายแพ้ ต้องทำสนธิสัญญาและจำกัดอาณาเขตเนปาลเหลือเท่าปัจจุบัน
ในปีพ.ศ. 2491 ชัง พหาทุระ รานา ซึ่งเป็นขุนนางในประเทศ ยึดอำนาจจากราชวงศ์ศาห์ โดยยังคงราชวงศ์ศาห์ไว้เป็นประมุขแต่ในนาม ตระกูลรานาได้รับการสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร เนปาลได้ส่งกองทัพเข้าร่วมกับกองทัพบริเตนในหลายสงคราม ทำให้สหราชอาณาจักรทำสนธิสัญญามิตรภาพกับเนปาลในปีพ.ศ. 2466 ซึ่งในสนธิสัญญานี้ สหราชอาณาจักรได้ยอมรับเอกราชของเนปาลอย่างชัดเจน
ในปีพ.ศ. 2494 เกิดการต่อต้านการปกครองของตระกูลรานา นำโดยพรรคเนปาลีคองเกรสและกษัตริย์ตริภุวัน ทำให้โมหัน สัมเสระ ชัง พหาทุระ รานา ผู้นำคนสุดท้ายของตระกูลรานาคืนอำนาจให้แก่กษัตริย์ศาห์ และจัดการเลือกตั้ง

หลังจากเนปาลได้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ โดยจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในปีพ.ศ. 2502 แต่กษัตริย์มเหนทระได้ยุบสภา ยึดอำนาจในปีพ.ศ. 2503 และใช้ระบอบปัญจายัตแทน จนมาถึงการปฏิรูปการปกครองในปีพ.ศ. 2533 ทำให้เปลี่ยนจากระบอบปัญจายัต ที่ห้ามมีพรรคการเมือง มาเป็นระบอบรัฐสภาแบบพหุพรรค
ในปีพ.ศ. 2539 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเนปาล (ลัทธิเหมา) ได้เปิดฉากสงครามประชาชน มีเป้าหมายที่จะสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมขึ้นแทนระบอบราชาธิปไตย นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองซึ่งกินเวลายาวนานถึงสิบปี ในปีพ.ศ. 2544 เกิดเหตุสังหารหมู่ในพระราชวัง โดยเจ้าชายทิเปนทระ มกุฎราชกุมารในสมัยนั้น และกษัตริย์ชญาเนนทระได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน ในปีพ.ศ. 2548 กษัตริย์ชญาเนนทระได้ยึดอำนาจจากรัฐบาล นำมาซึ่งการประท้วงจากประชาชนและพรรคการเมืองในเวลาต่อมา จนต้องคืนอำนาจให้กับรัฐสภา รัฐสภาเนปาลได้จำกัดพระราชอำนาจของกษัตริย์ และให้เนปาลเป็นรัฐโลกวิสัย (secular state)

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 รัฐสภาเนปาลได้ผ่านกฎหมายที่จะเปลี่ยนเนปาลเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย โดยมีผลหลังการเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2551

ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 รัฐบาลเนปาลประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์ สถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยขึ้น โดยกำหนดให้ชญาเนนทระและพระบรมวงศานุวงศ์ต้องเสด็จออกจากพระราชวังภายใน 15 วัน และกำหนดให้วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ

การเมือง

ในปัจจุบัน เนปาลเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีนายราม บารัน ยาดัฟ เป็นประธานาธิบดีคนแรก จากการลงคะแนนเสียงของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 308 เสียง และนายคีรีชา ปราสาท โกอีราละ อดีตรักษาการณ์ประมุขแห่งรัฐทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป จนมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อันนำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมา หรืออดีตกลุ่มกบฏลัทธิเหมา ซึ่งมีนายประจันดา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากที่นายประจันดา ต้องการให้อดีตกลุ่มกบฎของเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ จึงมีกระแสกดดันมาจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเนปาล และรวมทั้งประธานาธิบดียาดัฟ นายประจันดาจึงประกาศลาออก และสภาได้เลือกนายมาดัฟ คูมาร์ เนปาล อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ลัทธิมาร์ก-เลนิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ก่อนครบรอบ 1 ปีของการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐในเนปาล

เศรษฐกิจ
พื้นที่เกษตรกรรมมีเพียงร้อยละ 17 พืชที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวเจ้า พื้นที่ 2 ใน 3 ปกคลุมด้วยป่าไม้ มีการตัดไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมไม้อัด โรงงานอุตสากรรมขนาดเล็กที่แปรสภาพผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ โรงงานน้ำตาล โรงงานกระดาษ
รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศได้มาจากการค้าแรงงานของชาวเนปาลีที่อยู่ต่างประเทศ และส่งเงินกลับมาให้กับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเนปาล

ธุรกิจการท่องเที่ยวมีจุดสนใจอยู่ที่การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยและวัฒนธรรม เช่นการเดินเขา ปีนเขา และล่องแก่ง ตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเนปาลก็มีอาทิเช่น ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ,วัดปศุปฏินาถ ,วัดสวยมภูวนาถ ,พระราชวังกาฐมัณฑุ ,เมืองโพคารา ฯลฯ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.wikipedia.com/ จ๊า
0 Responses

แสดงความคิดเห็น

abcs