ประเทศกรีซ (Greece) (ภาษากรีก: Ελλάδα, Elládha [e̞ˈlaða] หรือ Ελλάς, Ellás [e̞ˈlas]) มีชื่อประเทศเป็นทางการว่า สาธารณรัฐเฮลเลนิก (Hellenic Republic) (ภาษากรีก: Ελληνική Δημοκρατία, Ellinikí Dhimokratía [e̞ˌliniˈci ðimo̞kraˈtiˌa]) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ตอนใต้สุดของคาบสมุทรบอลข่าน มีพรมแดนทางเหนือติดกับประเทศบัลแกเรีย มาซิโดเนีย และแอลเบเนีย มีพรมแดนทางตะวันออกติดกับประเทศตุรกี อยู่ติดทะเลอีเจียนทางด้านตะวันออก ติดทะเลไอโอเนียนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางด้านตะวันตกและใต้ กรีซนับว่าเป็นแหล่งอารยธรรมตะวันตกอันยิ่งใหญ่ และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งกรีซได้แผ่อิทธิพลไปยัง 3 ทวีป
ชาวกรีกเรียกประเทศตัวเองว่า Hellas ซึ่งภาษากรีกในปัจจุบันออกเสียง ว่า Ellas โดยในการพูดทั่วไปจะใช้คำว่า Ellada และมักจะเรียกตัวเองว่า Hellenes แม้กระทั่งในภาษาอังกฤษ ซึ่งคำภาษาอังกฤษ "Greece" มาจากชื่อละตินว่า Graecia หมายถึงพื้นที่ทางเหนือของกรีซในปัจจุบัน ซึ่งมีกลุ่มคนที่เรียกว่า Graikos อาศัยอยู่
ประวัติศาสตร์
ยุคโบราณ
ในยุคสำริด 3,000-2,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช เป็นยุคที่อารยธรรมชนเผ่าไซแคลดิกและไมซีแนเอียนกำลังมีอิทธิพลรุ่งเรืองอยู่ในกรีซ แต่พอถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสตกาล อิทธิพลของวัฒนธรรมไซแคลดิกและไมซีแนเอียนก็ถึงกาลเสื่อมสลายลง เพราะถูกรุกรานโดยนักรบเผ่าดอเรียนที่รุกมาจากทางเหนือ อารยธรรมต่าง ๆ ในกรีซจึงเริ่มเข้าสู่ยุคมืด
ช่วงเวลา 800 ปีก่อนคริสตกาล เป็นช่วงเวลาที่อารยธรรมกรีซเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง วัฒนธรรมและกิจการทหารของกรีซเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด เมืองเอเธนส์ลัสปาต้าเป็นศูนย์กลางของอำนาจมหาอาณาจักรกรีซประกอบด้วยอิตาลีทางตอนใต้อันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ กรีซย่างก้าวเข้าสู่ยุคคลาสสิกหรือยุคทอง ในยุคนี้เองนักปราชญ์ชื่อ เพเรอคลิส ผู้ทำให้วิหารพาร์เธนอนเป็นที่รู้จักของชาวโลก โซโฟคลิสได้เขียนมหากาพย์อีดิปุสขึ้น และโสคราติสหรือซาเครอทิส ได้เริ่มการสอนลูกศิษย์ชาวเอเธนส์ให้รู้จักวิชาตรรกวิทยาและหลักการของประชาธิปไตย ต่อมาไม่นานนักยุคทองของกรีซก็ถึงจุดเสื่อม แล้วกรีซก็เข้าสู่ยุคสงครามเปลโอปอนนีเซียน ซึ่งกองทหารอันเกรียงไกรของสปาร์ตาได้ยกกำลังเข้าบดขยี้ชาวเอเธนส์เสียจนย่อยยับ
ในขณะที่สปาร์ตากำลังรุกรานกรีซอย่างย่ามใจทางตอนเหนือ พระเจ้าฟิลิปแห่งอาณาจักรมาซิโดเนียกำลังไล่ตีเมืองเล็กเมืองน้อยรุกคืบเข้ามาใกล้กรีซทุกที แต่ทว่าความทะเยอทะยานที่จะเป็นผู้พิชิตในภูมิภาคนี้ของพระเจ้าฟิลิปก็ถูกบดบังรัศมีโดยโอรสของพระองค์เองคือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้สามารถยาตราทัพไปถึงเอเชียไมเนอร์และอียิปต์ ซึ่งที่อียิปต์นี้เองพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นฟาโรห์ ผู้สร้างเมืองอเล็กซานเดรีย พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสามารถยกทัพไปถึงเปอร์เซียและดินแดนส่วนที่เป็นอินเดียและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ในรัชสมัยของอาณาจักรมาซิโดเนียเรียกกันว่า ยุคเฮลเลนิสติก (Hellenistic Period) เพราะยุคนี้มีการผสมผสานปรัชญาและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองของชนชั้นปกครองจนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ศิวิไลซ์ยิ่งขึ้น หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุ 33 ปีแล้ว มีกษัตริย์ปกครองกรีซสืบต่อมาอีก 3 รัชกาล
ครั้นถึงปีที่ 205 ก่อนคริสต์ศักราช อิทธิพลของโรมันแผ่ขยายเข้ารุกรานกรีซ และเมื่อถึงปี 146 ก่อนคริสตกาล กรีซกับมาซิโดเนียตกอยู่ใต้การปกครองของโรมัน หลังจากที่มีการแบ่งอาณาจักรโรมันเป็นอาณาจักรตะวันออกและตะวันตก กรีซได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไบแซนไทน์ และเมื่อเกิดสงครามครูเสดขึ้น อิทธิพลของอาณาจักรไบแซนไทน์ก็เสื่อมถอยเพราะถูกรุกรานโดยชาวเวนิส คาตาลัน เจนัว แฟรงก์ และนอร์มัน
ยุคกลาง
ในปี พ.ศ. 1996 (ค.ศ. 1453) กรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์ถูกพวกเติร์กยึดครอง และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2043 (ค.ศ. 1500) ดินแดนของกรีซทั้งหมดก็ตกอยู่ใต้อำนาจของเติร์ก ดินแดนที่เป็นกรีซในปัจจุบันแต่ก่อนเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือของยุโรปตอนกลางและเป็นที่ชุนนุมนักปราชญ์กับศิลปินของโลก เพราะที่นี่เป็นหมู่บ้านกรีกที่มีประเพณีและวัฒนธรรมของกรีกออร์ทอดอกซ์ ในการทำสงครามเพื่อกู้เอกราชจากเติร์ก กรีซได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากนักคิด นักเขียน และนักปรัชญา เช่น ไบรอน แชลเลย์ และเกอเธ อย่างไรก็ตามการต่อสู้ที่ขาดเอกภาพของกรีซ ทำให้ฝรั่งเศส รัสเซีย และอังกฤษ ตัดสินใจเข้ามาแทรกแซง หลังจากกรีซได้รับเอกราชแล้ว กลุ่มอำนาจในยุโรปมีความเห็นว่ากรีซควรมีการปกครองระบบกษัตริย์จึงได้จัดการให้กษัตริย์ออตโตแห่งบาวาเรีย เป็นกษัตริย์ปกครองกรีซในปี พ.ศ. 2376 (ค.ศ. 1833) หลังจากนั้นกรีซก็มีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์อีกหลายพระองค์ด้วยกัน จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงได้รับพระราชทานกฎหมายรัฐธรรมนูญให้กรีซในปี พ.ศ. 2407 (ค.ศ. 1864) ทำให้กรีซมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ยุคใหม่
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพกรีซอยู่ข้างฝ่ายสัมพันธมิตร และเข้ายึดครองเมืองเทรซ เมื่อสงครามโลกยุติ กรีซได้ส่งกองกำลังเข้าไปช่วยปลดปล่อยเมืองสเมอร์นาของตุรกี (ปัจจุบันคืออิซมีร์) ให้ได้รับอิสรภาพ เพราะเมืองนี้มีประชาชนชาวกรีกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กองกำลังกรีกถูกต่อต้านอย่างแข็งแกร่งจากกองทัพของอตาเติร์ก ซึ่งได้เข่นฆ่าชาวกรีกในเมืองนั้นเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก ผลของสงครามนี้ทำให้มีการตกลงแลกเปลี่ยนพลเมืองของ 2 ประเทศกันในปี พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) ประชากรกรีกเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีผู้อพยพชาวคริสเตียนมาอยู่ในกรีซมากถึง 1,300,000 คน ทำให้กรีซมีปัญหาด้านเศรษฐกิจตามมา คนเหล่านี้กระจายกันไปอยู่นอกเมือง ภายหลังมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานต่าง ๆ ขึ้นในกลุ่มพวกอพยพที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองรอบนอก และในปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) พรรคคอมมิวนิสต์ในกรีซก็เติบโตและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการสนับสนุนของประชาชนทั่วประเทศ
ปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) นายพลเมเตอซัส ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาเป็นผู้ปกครองประเทศที่นิยมการปกครองแบบเผด็จการ ถึงแม้ว่าจะได้เห็นความเป็นไปในชะตากรรมของพวกนาซี แต่ตัวเขาเองกลับกระทำการต่าง ๆ ที่ทำให้เขาได้รับฉายาว่าเป็นภาพจำลองของอาณาจักรไรน์ในกรีซ นายพลเมเตอซัสทำการต่อต้านไม่ยอมให้เยอรมนีกับอิตาลีเดินทัพผ่านกรีซ ถึงแม้ว่ากลุ่มสัมพันธมิตรจะเข้าช่วยกรีซแต่กรีซก็ต้องตกเป็นของเยอรมนีในปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) เป็นผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น มีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ เป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดขึ้นในกรีซ และยุติลงใน พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) โดยฝ่ายนิยมกษัตริย์อ้างชัยชนะ
ในช่วงเวลานั้นอเมริกากำลังเคร่งครัดในลัทธิทรูแมน รัฐบาลอเมริกาในขณะนั้น มีนโยบายให้เงินก้อนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลที่ต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ แต่ความกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์จะครองเมืองทำให้คณะทหารของกรีซทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) กล่าวกันว่าการปฏิวัติในกรีซเป็นผลมาจากการแทรกแซงทางการเมืองของหน่วยงาน CIA ของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาปฏิบัติการในทวีปยุโรปกลุ่มทหารที่ครองอำนาจในกรัซทำตนมีอำนาจเหนือราษฎรและทำการกดขี่ข่มเหงประชาชน ยิ่งกว่านั้นคณะนายพลของทหารกรีซได้ทำการวางแผนลอบสังหารผู้นำของไซปรัสในขณะนั้น เป็นผลให้ตุรกีฉวยโอกาสเข้ารุกเข้ายึดครองตอนเหนือของไซปรัส ทำใหเหตุการณ์นี้เป็นข้อบาดหมางระหว่างกรีซกับตุรกีมาจนถึงทุกวันนี้
ในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) กรีซเข้าเป็นสมาชิกสมาคมสหภาพยุโรป พรรคสังคมนิยม PASOK นำโดยนายแอนเดรียส์ ปาปันเดรโอ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลให้สัญญาว่าจะจัดการให้อเมริกาย้ายฐานทัพอากาศออกไปจากกรีซและกรีซจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของนาโตแต่รัฐบาลทำไม่สำเร็จ สตรีชาวกรีซเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงประเพณีเรื่องสินสอดและเรียกร้องให้กฎหมายสนับสนุนการทำแท้งเสรีความไม่สงบในประเทศทำให้ปาปันเดรโอกับรัฐบาลของเขาเสียอำนาจการปกครองประเทศให้กับรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) การเลือกตั้งในกรีซเมื่อ พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) พรรคอนุรักษ์นิยมได้ที่นั่งมากที่สุดและได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศแต่ไม่สำเร็จ การเลือกตั้งใหม่ใน พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) กรีซได้ปาปันเดรโอผู้นำเฒ่าของพรรคเสรีนิยมกลับมาครองอำนาจกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ท่านผู้นำถึงแก่อนิจกรรมใน พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) หลังจากที่ท่านลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองกรีซได้ผู้นำคนใหม่ชื่อ คอสทาส สมิทิส ต่อมากรีซกับตุรกีขัดแย้งกันอย่างหนักจนใกล้จะระเบิดสงครามเมื่อผู้สื่อข่าวของตุรกีได้นำธงชาติกรีซมาย่ำยีเล่น สมิทิสได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีกรีซอีกครั้ง รัฐบาลใหม่ให้สัญญากับประชาชนว่าจะเร่งการนำประเทศเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอียู นายกรัฐมนตรีเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับรัฐมนตรีโทนี แบลร์ของอังกฤษตั้งแต่สมิทิสมีอำนาจในการบริหารประเทศเขามีนโยบายเห็นด้วยกับกลุ่มฝ่ายค้านพรรคประชาธิปไตยใหม่แทบทุกเรื่อง
การเมือง
กรีซมีการปกครองแบบสาธารณรัฐรัฐสภา หลังจากที่ประชาชนลงมติให้เลิกล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1974 วันประกาศอิสรภาพของกรีซคือวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1821 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของกรีซประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1975 แก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้ง คือ เดือนมีนาคม ค.ศ. 1986 และเดือนเมษายน ค.ศ. 2001
ระบบกฎหมายของกรีซมีพื้นฐานมาจากหลักกฎหมายของโรมัน
กรีซมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ประธานาธิบดีได้มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา อยู่ตำแหน่งคราวละ 5 ปี ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีที่ได้มาจากการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี
สมาชิกนิติบัญญัติได้มาจากการเลือกตั้งทั่วไป มีจำนวน 300 ที่นั่ง อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ภูมิศาสตร์
ประเทศกรีซประกอบด้วยแผ่นดินใหญ่ในทางทิศใต้ไปจนถึงแหลมบอลข่านและเกาะมากมายกว่า 3,000 เกาะ รวมทั้งเกาะครีต (Vrete) เกาะโรด (Rhode) เกาะไคออส (Chios) เกาะเลสบอส (Lesbos) เกาะยูบีอา (Euboea) และหมู่เกาะโดเดคะนีส (Dodecanese) และพวกไซแคลดิกทางทะเลอีเจียน ที่เหมือนกับชาวกรีกบนหมู่เกาะไอโอเนียน กรีซมีแนวชายฝั่งทะเลยาว 15,000 กิโลเมตร และเส้นแบ่งเขตแดน ยาว 1,160 กิโลเมตร
ราวๆ 80% ของประเทศกรีซประกอบด้วยภูเขา และเนินเขา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กรีซเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่มีภูเขามากที่สุด ทางตะวันตกของกรีซจะเป็นทะเลสาบและพื้นที่ชื้นแฉะพินดัส เป็นภูเขาทางตอนกลางซึ่งมีความสูงถึง 2,636 เมตร เมื่อพิจารณาดูแล้ว ภูเขาพินดัสอาจจะมีการขยายออกมาจากเทือกเขาดิแนริดได้ แนวเทือกเขาที่ต่อเนื่องกัน กลายเป็นแหลมเพโลพอนนีส เกาะคีทีรา (Kythera) และเกาะแอนติคีทีรา (Antikythera) พบที่จุดปลายของเกาะกรีก
ทางตอนกลางและทางตะวันตกของกรีซ เป็นที่สูงชัน มียอดเขาสูงที่แยกออก เป็นหุบเขาลึกมากมาย และมีลำธารระหว่างหุบเขาต่าง ๆ เช่น ช่องแคบ Meteora และ Vikos มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากแกรนด์แคนยอนในสหรัฐอเมริกา
ยอดเขาโอลิมปัสเป็นจุดที่สูงที่สุดของกรีซ คือ 2,919 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทางตอนเหนือก็ยังมีเทือกเขาสูง ๆ อีก อย่าง Rhodope ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของมาซิโดเนียและเทรซ พื้นที่นี้ถูกปกคลุมไปด้วย ป่าทึบเก่าแก่ขนาดใหญ่ เหมือนกับ Dadia ที่เป็นที่รู้จักกัน
ทางตะวันออกของกรีซเต็มไปด้วยทุ่งกว้างมากมาย คือตรงตอนกลางของมาซิโดเนียและเทรซ โวลอสและลาริสซา เป็น 2 เมืองใหญ่ ของทางตะวันออกของกรีซ
สภาพอากาศของกรีซ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เทือกเขาแอลป์ และ Temperate แบบแรก ภูมิประเทศแบบฝนตกในฤดูหนาว แห้งแล้งในฤดูร้อน อุณหภูมิไม่ค่อยสูง อย่างไรก็ตามก็มีหิมะตกบางในกรุงเอเธนส์ หมู่เกาะซิคละดิส หรือเกาะครีตมีสภาพอากาศหนาว เทือกเขาแอลป์ก่อตัวมาจากทางตะวันตกของกรีซ สภาพอากาศแบบสุดท้ายก่อตัวจากทางตอนกลางและทางมาซิโดเนียตะวันออก เทรซ Xanthi และ Evros เหนือ มีอากาศหนาว ชื้น ในฤดูหนาว และ แห้งแล้งในฤดูร้อน เป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับกรุงเอเธนส์ที่ ตั้งอยู่ระหว่างสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน กับเทือกเขาแอลป์ ดังนั้นชานเมืองทางตอนใต้จะมีสภาพอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่ทางตอนเหนือมีสภาพอากาศแบบ เทือกเขาแอลป์
50% ของประเทศกรีซ ถูกปกคลุมไปด้วยป่า ที่มีพืชนานาชนิด จากเทือกเขาแอลป์ ป่าสนของทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ทะเลรอบ ๆ ประเทศกรีซ มีแมวน้ำ เต่าทะเล และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่หายากอาศัยอยู่ ในขณะที่ป่าของกรีซ เป็นที่บ้านหลังสุดท้ายของยุโรปตะวันตก ที่มีหมีสีน้ำตาล แมวป่า กวางโร แกะป่า สุนัขจิ้งจอก และหมูป่า
ประชากร
พ.ศ. 2548 มีข้อมูลประชากรประมาณ 11,244,118 คน (อันดับที่ 74) และความหนาแน่น 80.91/กม² (อันดับที่ 108) ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ (Geek Orthodox)
วัฒนธรรม
กรีซมีชื่อเสียงทางเรื่องศิลปะเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเด่นและสง่างามของเสาหินแบบวิหารพาร์เธนอน ที่ตกแต่งตรงส่วนบนของหัวเสาด้วยศิลปะแบบกรีกมี 3 แบบ คือ ดอริก , ไอโอนิก และคอรินเธียน จะเห็นเสาหินแบบกรีกเป็นส่วนตกแต่งด้านหน้าของอาคารสำคัญๆและสิ่งก่อสร้างที่เป็นงานสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อของโลกตามเมืองหลวงของประเทศต่างๆในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย สถานที่ทำงานสำคัญๆ ของประเทศที่มีชื่อเสียงต่างๆ ล้วนนำสถาปัตยกรรมศิลป์ของกรีซไปประยุคผสมผสาน ในการก่อสร้างเป็นการยอมรับในอารยธรรมที่รุ่งเรืองของกรีซโบราณและเป็นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่เคยเฟื่องฟูในอดีตของกรีซไปทุกมุมโลกนอกจาก งานสถาปัตยกรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของกรีซที่เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว งานจิตรกรรมและประติมากรรมของกรีซยังเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรดาพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่างๆ พยายามเสาะหามาเป็นสมบัติเก็บสะสมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถึงแม้งานศิลปะชั้นเยี่ยมของกรีซจะกลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของประเทศอื่นแต่กรีซก็ยังมีงานศิลปะโบราณอยู่ในประเทศอีกมาก
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.wikipedia.com/ จ๊า
ข้อมูล ไม่เข้ากับหน้าตา
ว๊ะ หะ หะ