ประเทศเบลเยี่ยม Belgium




ประเทศเบลเยียม หรือ ราชอาณาจักรเบลเยียม เป็นประเทศในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และทะเลเหนือ เบลเยียมเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของสหภาพยุโรป และเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ เช่นเดียวกับของอีกหลายองค์กรระหว่างประเทศรวมถึงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ

เบลเยียมมีความหลากหลายทางภาษาค่อนข้างสูง ส่งผลต่อระบบการปกครองที่ค่อนข้างซับซ้อน เบลเยียมแบ่งออกเป็นสองภูมิภาคใหญ่ๆ ได้แก่ฟลานเดอร์ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาดัตช์ และวัลโลเนีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาฝรั่งเศส บรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม เป็นเขตทวิภาษา ตั้งอยู่ในฟลานเดอร์ นอกจากนี้ยังมีชุมชนที่พูดภาษาเยอรมันในทางตะวันออกของวัลโลเนียด้วย

คำว่าเบลเยียม (Belgium ในภาษาอังกฤษ België และ Belgique ในภาษาดัตช์และฝรั่งเศส) มีที่มาจาก Gallia Belgica ซึ่งเป็นจังหวัดในยุคโรมัน มีกลุ่มชาว Belgae อยู่อาศัย

ประวัติศาสตร์
มีหลักฐานการดำรงอยู่ของชุมชนโบราณมานานมากกว่า 2,000 ปีโดยขุดพบโครงกระดูกมนุษย์และภาพเขียนโบราณในถ้ำตอนกลางของประเทศริมฝั่งแม่น้ำเมิส (la Meuse)

ในปีพ.ศ. 600 จูเลียส ซีซาร์ขยายอำนาจของจักรวรรดิโรมันมายังดินแดนเบลเยียมปัจจุบัน โดยเอาชนะชนเผ่าเซลติกที่ชื่อ Belgae และก่อตั้งเป็นจังหวัด Gallia Belgica ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ดินแดนแถบนี้ก็ตกไปอยู่ในการควบคุมของชนเผ่าแฟรงก์ ก่อตั้งราชวงศ์เมโรแวงเจียง[1] พระเจ้าโคลวิสที่ 1 ทรงรับคริสต์ศาสนาเข้ามาสู่อาณาจักร หลังจากยุคของโคลวิสแล้ว อาณาจักรของพวกแฟรงก์ก็เริ่มแตก จนกระทั่งถึงยุคของพระเจ้าชาร์เลอมาญ ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปีพ.ศ. 1311 จนถึง 1357 ซึ่งได้รวบรวมอาณาจักรแฟรงก์ ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป

หลังจากพระเจ้าชาร์เลอมาญสิ้นพระชนม์ อาณาจักรก็ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเบลเยียมปัจจุบันเป็นของพระเจ้าโลแธร์ ซึ่งปกครองอาณาจักรกลาง ในขณะที่ส่วนที่เหลือตกเป็นของฝรั่งเศส อาณาจักรกลางภายหลังตกไปอยู่ภายใต้กษัตริย์เยอรมันของอาณาจักรตะวันออก ดินแดนเบลเยียมถูกแบ่งออกเป็นรัฐขุนนางเล็กๆจำนวนมาก ซึ่งต่อมารวบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเบอร์กันดี หลังจากการอภิเษกสมรสของพระนางแมรีแห่งเบอร์กันดีกับเจ้าชายมักซิมิลันจากราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ซึ่งต่อมาขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ดินแดนเบลเยียมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ได้ตกทอดไปถึงพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งสเปน พระนัดดาของพระเจ้ามักซิมิลัน

รัชสมัยของพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน พระราชโอรสของพระเจ้าชาลส์ ได้เกิดความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ โดยพระเจ้าเฟลิเปพยายามที่จะปราบปรามนิกายโปรเตสแตนต์ ดินแดนทางตอนเหนือ ซึ่งสนับสนุนนิกายโปรเตสแตนต์ รวมตัวกันเป็นสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่ดินแดนทางใต้ ประกอบด้วยเบลเยียมและลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน เรียกชื่อว่าเนเธอร์แลนด์ใต้

ต่อมา ฝรั่งเศสได้ขึ้นเป็นมหาอำนาจในยุโรป พื้นที่ประเทศต่ำได้เป็นสนามรบ เบลเยียมได้เปลี่ยนมือไปยังออสเตรีย จนกระทั่งหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1ได้ยึดเบลเยียมในปีพ.ศ. 2338 ยุติการปกครองของสเปนและออสเตรียในบริเวณนี้ หลังจากการสิ้นสุดของจักรวรรดิฝรั่งเศสของนโปเลียน กลุ่มประเทศต่ำได้รวมกันอีกครั้งเป็นสหราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ในปีพ.ศ. 2358

เกิดการปฏิวัติในเบลเยียมในปีพ.ศ. 2373 ก่อตั้งเป็นรัฐเอกราช และเลือกเจ้าชายเลโอโปลด์จากราชวงศ์แซ็กซ์-โคบูร์กและโกธา ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 1 โดยมีการปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในปีพ.ศ. 2374

เบลเยียมได้รับคองโกเป็นอาณานิคมในปีพ.ศ. 2451 จากที่เคยเป็นดินแดนส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 2 เยอรมนีเข้ารุกรานเบลเยียมในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เบลเยียมเข้าครอบครองรวันดา-อุรุนดี (ปัจจุบันคือประเทศรวันดาและบุรุนดี) ซึ่งเป็นอาณานิคมของเยอรมนีในช่วงสงคราม เบลเยียมถูกรุกรานจากเยอรนีอีกครั้งในสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งถูกปลดปล่อยโดยกองทัพสัมพันธมิตร คองโกได้รับเอกราชในปีพ.ศ. 2503 ในขณะที่รวันดา-อุรุนดีได้รับในอีกสองปีถัดมา

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เบลเยียมเข้าร่วมนาโต ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่บรัสเซลส์ และจัดตั้งกลุ่มเบเนลักซ์ร่วมกับเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก เบลเยียมเป็นหนึ่งในหกสมาชิกก่อตั้งของประชาคมถ่านหินและเหล็กยุโรปในปีพ.ศ. 2494 และในปีพ.ศ. 2500 ก่อตั้งประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปและประชาคมเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งต่อมาคือสหภาพยุโรป เบลเยียมเป็นที่ตั้งของหน่วยงานหลายอย่างของสหภาพ อาทิเช่น คณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เป็นต้น

การเมืองการปกครอง

เบลเยียมมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งพระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีอัลแบร์ที่ 2ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การปกครองของเบลเยียมนั้นมีเน้นไปทางอำนาจปกครองตนเองของสองชุมชนหลัก ซึ่งมีมีปัญหาความแตกแยกจากความแตกต่างทางภาษา ในปีพ.ศ. 2536 ได้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญครั้งสำคัญ โดยบัญญัติให้เบลเยียมเป็นสหพันธรัฐ หลังจากเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่พ.ศ. 2513

รัฐสภากลางของเบลเยียมนั้นใช้ระบบสภาคู่ โดยประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ดัตช์: de Kamer van Volksvertegenwoordigers; ฝรั่งเศส: la Chambre des Représentants) และวุฒิสภา (ดัตช์: de Senaat; ฝรั่งเศส: le Sénat) วุฒิสภานั้นประกอบด้วยนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรง 40 คน และอีก 21 คนแต่งตั้งโดยสภาชุมชนสามสภา สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 150 คนจากเขตเลือกตั้ง 11 เขต เบลเยียมนั้นมีการกำหนดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของประชาชน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2435

ภูมิศาสตร์
เบลเยียมมีพรมแดนติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส (620 กม.) เยอรมนี (167 กม.) ลักเซมเบิร์ก (148 กม.) และเนเธอร์แลนด์ (450 กม.) มีพื้นที่รวม 30,528 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำ 250 กม.² ภูมิประเทศของเบลเยียมแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ที่ราบชายฝั่ง ที่ราบสูงกลาง และที่สูงอาร์เดนส์

ภูมิประเทศ
ที่ราบชายฝั่งของเบลเยียม ประกอบด้วยเนินทรายจำนวนมาก ลึกเข้ามาในแผ่นดินเป็นที่ราบทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และคลอง ที่สูงอาร์เดนส์เป็นเขตที่เป็นป่าหนาแน่น ยกตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 460 เมตร อยู่ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของเบลเยียม พื้นที่แถบนี้มีลักษณะเป็นหิน ไม่เหมาะกับเกษตรกรรม มีจุดที่สูงที่สุดของเบลเยียมคือซิญาลเดอปอตราญ (Signal de Portrange) สูง 694 เมตร

แม่น้ำสายหลักของเบลเยียมได้แก่แม่น้ำเอสโก (Escaut; สเคลด์ – Schelde) และแม่น้ำเมิส (Meuse; มาส – Maas) ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ฝรั่งเศส แม่น้ำเอสโกเป็นแม่น้ำสายหลักของเบลเยียม ผ่านท่าเรือแอนต์เวิร์ป บรัสเซลส์ และเกนท์

ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศชายฝั่งทะเลมีลักษณะชื้นและไม่รุนแรงนัก ในขณะที่ลึกเข้ามาในพื้นทวีปอุณหภูมิจะมีช่วงความเปลี่ยนแปลงสูงกว่า ในเขตที่สูงอาร์เดนส์มีฤดูร้อนที่ร้อนสลับกับฤดูหนาวที่หนาวเย็น ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อเดือนในบรัสเซลส์ อยู่ระหว่าง 55 มิลลิเมตร ในเดือนกุมภาพันธ์ จนถึง 78 มิลลิเมตรในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของบรัสเซลส์อยู่ที่ 15-18 องศาเซลเซียสในเดือนมิถุนายนถึงกันยายน และลงต่ำอยู่ที่ 3 องศาในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ จากรายงานของสหประชาชาติในปีพ.ศ. 2546 คุณภาพน้ำในแม่น้ำของเบลเยียมอยู่ในระดับต่ำสุดจากทั้งหมด 122 ประเทศ

เศรษฐกิจ
เบลเยียมเป็นประเทศแรกในภาคพื้นทวีปยุโรปที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมีการพัฒนาการทำเหมืองแร่ ตีเหล็ก และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เบลเยียมได้พัฒนาสาธารณูปโภคด้านการขนส่ง ทั้งท่าเรือ คลอง รถไฟ และทางหลวง เชื่อมเศรษฐกิจเข้ากับประเทศอื่นในยุโรป เบลเยียมเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งของประชาคมยุโรป และสนับสนุนการขยายอำนาจของสหภาพยุโรปเพื่อรวมเศรษฐกิจของชาติสมาชิก เบลเยียมเข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโรในปีพ.ศ. 2542 และทดแทนฟรังก์เบลเยียมอย่างสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2545 ทั้งนี้ เบลเยียมเข้าร่วมสหภาพศุลกากรและสกุลเงินกับประเทศลักเซมเบิร์กตั้งแต่ปีพ.ศ. 2465

ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง วัลโลเนียเป็นเขตที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสูง หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ฟลานเดอร์เริ่มมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยปรากฏการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมี ในเขตวัลโลเนีย อุตสาหกรรมเหล็กเริ่มสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน จนกระทั่งเกิดวิกฤติการน้ำมัน พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2522 ส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะตกต่ำ หลังจากนั้น ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศขยับไปทางเขตฟลานเดอร์

เศรษฐกิจของเบลเยียมมีจุดเด่นคือ ผลิตภาพของแรงงาน รายได้ประชาชาติ และการส่งออกต่อประชากรสูง[14] การส่งออกของเบลเยียมคิดเป็นมากกว่าสองในสามของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) [5]โดยเบลเยียมได้เปรียบจากตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ในศูนย์กลางพื้นที่ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง เบลเยียมเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา

ประชากร
ในปีพ.ศ. 2549 เบลเยียมมีประชากรประมาณ 10.5 ล้านคน โดยอาศัยอยู่ในเขตฟลามส์ราว 6 ล้านคน เขตวัลลูนราว 3.4 ล้านคน และราว 1 ล้านคนในเขตเมืองหลวง คิดเป็นความหนาแน่นทั้งประเทศ 344 คนต่อตารางกิโลเมตร เขตเทศบาลที่มีผู้อยู่อาศัยมากได้แก่ แอนต์เวิร์ป (4.66 แสนคน) เกนต์ (2.35 แสนคน) ชาร์เลอรัว (2 แสนคน) ลีแยช (1.88 แสนคน) บรัสเซลส์ (1.45 แสนคน) เป็นต้น

ภาษา
เบลเยียมมีภาษาราชการ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาดัตช์ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน โดยคาดว่า มีผู้พูดภาษาดัตช์เป็นภาษาหลักราว 60 เปอร์เซนต์ และประมาณ 40 เปอร์เซนต์สำหรับภาษาฝรั่งเศส โดยภาษาเยอรมันมีผู้พูดน้อยกว่า 1 เปอร์เซนต์[7] ผู้พูดภาษาดัตช์ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือของประเทศ โดยเป็นภาษาราชการของเขตฟลามส์และชุมชนฟลามส์ และหนึ่งในสองภาษาราชการของเขตเมืองหลวง ผู้พูดภาษาฝรั่งเศสกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ เป็นภาษาราชการของชุมชนฝรั่งเศส อีกหนึ่งภาษาราชการของเขตเมืองหลวง และภาษาหลักของเขตวัลลูน ภาษาเยอรมันมีผู้พูดอยู่ในเขตชายแดนตะวันออกของประเทศ เป็นภาษาราชการในบางส่วนของวัลลูน ภาษาอื่นๆที่มีผู้พูดในเบลเยียมได้แก่ ภาษาวัลลูน ภาษาปีการ์ด ภาษาชองเปนัว และภาษาลอแรง

ศาสนา
คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นศาสนาหลักของเบลเยียม จากการสำรวจและศึกษาศาสนาในปีพ.ศ. 2544 ประชากรร้อยละ 47 ของประเทศประกาศตนเป็นคาทอลิก และมีประชากรมุสลิมประมาณ 364,000 คน หรือราว 3.5 เปอร์เซนต์ของประชากร








ขอบคุณข้อมุลดีๆจาก http://www.wikipedia.com/ จ๊า !
2 Responses
  1. PORSCHE Says:

    - -*

    เริ่ด วะ !

    55++

  2. Aureole Says:

    แหมๆ ที แรก เห่ย ซะ ไม่ มี

    ช้านน หรอก ย่ะ แต่ง

    ชริ หมั่นไส้ !!

แสดงความคิดเห็น

abcs