ประเทศออสเตรีย Austria



ประเทศออสเตรีย หรือ สาธารณรัฐออสเตรีย (Republic of Austria) (ภาษาเยอรมัน: Österreich, ภาษาโครเอเชีย: Austrija, ภาษาฮังการี: Ausztria, ภาษาสโลวีเนีย: Avstrija) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในยุโรปกลาง มีอาณาเขตทางเหนือจรดประเทศเยอรมนีและสาธารณรัฐเช็ก ทางตะวันออกจรดสโลวาเกียและฮังการี ทางใต้จรดสโลวีเนียและอิตาลี และทางตะวันตกจรดสวิตเซอร์แลนด์และลิกเตนสไตน์ มีการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนภายใต้หลักการของรัฐสภา

ประวัติศาสตร์
ก่อนปลายศตวรรษที่ 8 ดินแดนซึ่งเป็นประเทศออสเตรียในปัจจุบัน ได้มีชนชาติต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ที่สำคัญได้แก่ ชนเผ่าเยอรมัน ซึ่งได้ข้ามแม่น้ำดานูบลงมาทางใต้ และชาวสลาฟซึ่งได้อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรีย จนสิ้นสุดศตวรรษที่ 8 กษัตริย์ Charlemagne ได้ก่อตั้งเขตชายแดนระหว่างแม่น้ำอินส์ แรบ และดราวา เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันการรุกรานของชาวเอวาร์ และภายหลังจากที่ชาวโรมันได้อพยพออกไป นักบวชชาวไอริชและสก็อตจึงได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในดินแดนบริเวณเทือกเขาอัลไพน์แห่งนี้ ราชวงศ์บาเบินแบร์กของชาวรัฐบาวาเรียได้เข้าปกครองออสเตรียในปี ค.ศ. 976 ซึ่งยังมีประชาชนอยู่เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษต่อๆ มา ราชวงศ์บาเบินแบร์กได้ใช้ยุทธศาสตร์สร้างความแข็งแกร่งให้แก่อาณาจักร และขยายประเทศไปอย่างกว้างขวาง ภายหลังจากที่ราชวงศ์บาเบินแบร์ก ได้หมดอำนาจลงในกลางศตวรรษที่ 13 ราชวงศ์ฮับส์บูร์กได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนนี้แทน และขยายอาณาเขตออกไปจนถึงแถบประเทศสเปน จนกระทั่ง ในปี 1522 ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจึงได้แตกออกเป็นสายออสเตรีย และสายสเปน อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ยังคงขยายอาณาเขตต่อไป โดยในปี ค.ศ. 1526 ได้ผนวกดินแดนโบฮีเมียและฮังการี เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 16 และ 17 ออสเตรียต้องเผชิญหน้ากับอาณาจักรออตโตมัน แต่โดยที่ออสเตรียสามารถเอาชนะกองทัพของอาณาจักรออตโตมันได้ ออสเตรียจึงได้ครอบครองดินแดนเพิ่มขึ้น และกลายเป็นมหาอำนาจรายหนึ่งในยุโรป ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 จักรพรรดินีมาเรีย เทเรเซีย และโจเซฟที่สอง ได้ทำการปฏิรูป และวางรากฐานการปฏิรูปการบริหารจัดการของรัฐให้ทันสมัย แต่การปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน ได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นเปลี่ยนไป นอกจากนี้ หลังจากที่อิตาลีได้ก่อตั้งขึ้นเป็นประเทศ ราชวงศ์ฮับสบรูกส์ต้องต้องยินยอมต่อการเคลื่อนไหวของนักชาตินิยมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในปี ค.ศ . 1867 จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ จึงได้ยอมตั้งราชวงศ์ร่วม (double monarchy) ออสเตรีย - ฮังการี ราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี เป็นผู้เริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ. 1914-1918 อันมีสาเหตุเนื่องมากจากการลอบสังหารเจ้าชาย Francis-Ferdinand ซึ่งเป็นทายาทของราชวงศ์ออสเตรีย - ฮังการี โดยนักชาตินิยมชาวเซิร์บ โดยออสเตรียเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ออสเตรียจึงได้ประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐ แต่ในขณะนั้น ออสเตรียมิได้มีอำนาจดังเช่นในอดีตแล้ว ในปี ค.ศ. 1938 ออสเตรียถูกกดดันจากเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ และประสบกับภาวะการขาดเสถียรภาพภายในประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศพันธมิตรได้ช่วยออสเตรียให้ฟื้นตัวขึ้นสู่ความเป็นประเทศสาธารณรัฐอีกครั้ง แต่ออสเตรียยังคงถูกยึดครองโดยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาจนถึงปี 1955 ซึ่งได้มีการลงนามในสนธิสัญญาประเทศออสเตรีย และในปีเดียวกัน รัฐสภาออสเตรียได้ออกกฎหมายให้ออสเตรียเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นกลางอย่างถาวร รวมทั้งได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติด้วย ออสเตรียได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1995 และได้เป็นประธานสภาสหภาพยุโรปเป็นครั้งแรกในครึ่งหลังของปี ค.ศ. 1995

ประวัติศาสตร์ของประเทศออสเตรียมีมายาวนานก่อนคริสตกาล ในการจะอธิบายให้เกิดความกระจ่างต้องแยกออกเป็นทั้งหมด 10 ช่วงตามความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศออสเตรียคือ
1.15 ปีก่อนคริสตกาล
2.15 ปีก่อนคริสตกาล - คริสต์ศักราช 700
3.คริสต์ศักราช 700–1806
4.คริสต์ศักราช 1867–1918
5.คริสต์ศักราช 1918
6.คริสต์ศักราช 1918-1938
7.ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
8.คริสต์ศักราช 1938–1945
9.หลังยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีคริสต์ศักราช 1945
10.ในปัจจุบัน

การเมือง
ออสเตรียปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 6 ปี และอาจดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระ ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรคที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากในสภาเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี รัฐสภาประกอบด้วยสภาล่าง (Nationalsrat) มีสมาชิก 183 คน ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก 4 ปี และสภาสูง (Bundesrat) มีสมาชิก 64 คน ได้รับเลือกตั้งจากสภาจังหวัด (Provincial Diet)

ออสเตรียแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด (federal province) ได้แก่ Lower Austria, Upper Austria, Salzburg, Styria, Carinthia, Tirol, Vorarlberg, Burgenland และ Vienna ซึ่งมีสถานะเป็นมหานคร แต่ละจังหวัดมีอำนาจปกครองเป็นอิสระยกเว้นการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ แต่ละจังหวัดมี Governor ซึ่งได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

พรรคการเมืองออสเตรีย
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ออสเตรียเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมาโดยตลอด โดยมีพรรคการเมืองที่สำคัญดังนี้คือ พรรค Austrian People's Party- ÖVP เป็นพรรคใหญ่ และเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค Social Democratic Party - SPÖ มา 3 สมัย ก่อนที่จะหันมาร่วมมือกับพรรค Alliance for the Future of Austria (BZ) ที่ได้แยกตัวออกมาจากพรรค Freedom Party-FPÖ ในเดือนเมษายน 2548 มีนาย Wolfgang Schüssel เป็นหัวหน้าพรรค พรรค Social Democratic Party - SPÖ เป็นพรรคใหญ่ที่สุดของออสเตรีย และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ทศวรรษ 60 ในการเลือกตั้งในปี 2543 พรรค SPÖ ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่สามารถโน้มน้าวพรรคอื่นร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องกลับเป็นฝ่ายค้าน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันสังกัดพรรคการเมืองนี้ พรรค Alliance for the Future of Austria - BZÖ เป็นพรรคที่แยกตัวออกมาจากพรรค FPO นำโดยนาย Jörg Haider พรรค Freedom Party - FPÖ เป็นพรรคที่มีแนวนโยบายขวาจัด ปัจจุบัน นาย Herbert Haupt ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค พรรค Greens เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีนโยบายอนุรักษ์นิยม นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ อีก อาทิ พรรคคอมมิวนิสต์ พรรค Liberal Reform พรรค Democrats พรรค Christian Election Community และ พรรค Socialist Left แต่ไม่คะแนนมีเสียงที่จะมีที่นั่งในสภา

ภูมิศาสตร์
ประเทศออสเตรียในปัจจุบัน ตามแผนที่ประเทศออสเตรียมีความกว้างจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตกมากกว่า 575 กิโลเมตร มีความยาวจากทิศเหนือจรดทิศใต้มากกว่า 294 กิโลเมตร

ประมาณ 60% ของสภาพภูมิประเทศของประเทศออสเตรียมีลักษณะเป็นภูเขาและเนินเขา ซึ่งได้รับการขานนามให้เป็น "ดินแดนแห่งขุนเขา" ประเทศออสเตรียมีการพาดผ่านของเส้นทาง "แม่น้ำดานูบ (Donau)" โดยผ่านรัฐโลว์เออร์ออสเตรีย หรือ นีเดอเริสเทอร์ไรค์ (Lower Austria; Niederösterreich) และ รัฐอัปเปอร์ออสเตรีย หรือ โอเบอเริสเทอร์ไรค์ (Upper Austria; Oberösterreich) เพื่อไหลต่อไปยังสาธารณรัฐเช็ก (Czech Republic)

ภูมิประเทศของประเทศออสเตรียแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ

ภูเขา (berge)
ภูเขาสูงในประเทศออสเตรียมีความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 3,000 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศออสเตรียตั้งอยู่ทางเทือกเขาด้านตะวันออก (Ostalpen) ด้วยความสูง 3,798 เมตร มีชื่อว่า โกรสซ์กล็อกเนอร์ (Großglockner) ยอดเขาที่สูงรองลงมาคือ ไวล์ดชะปิทซ์ (Wildspitze) ด้วยความสูง 3,774 เมตร และยอดเขาที่สูงเป็นอันดับที่สามของประเทศออสเตรยคือ ไวสซ์กูเกิล (Weißkugel) ด้วยความสูง 3,738 เมตร ด้วยลักษณะของภูเขาเป็นจุดสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกีฬาฤดูหนาว (Wintersport) ยกตัวอย่างเช่น สกี สโนว์บอร์ด เป็นต้น ส่วนในฤดูร้อน ก็ยังสามารถที่จะท่องเที่ยวชื่นชมสภาพป่า และการปีนเขา อีกด้วย

ทะเลสาบ (Seen)
ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรียมีชื่อว่า นอยซิดเลอร์ ซี (Neusiedler See) โดยมีพื้นที่ประมาณ 77% หรือประมาณ 315 ตารางกิโลเมตร อยู่ที่รัฐบูร์เกนลันด์ (Burgenland) ส่วนพื้นที่อีกประมาณ 33% ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของประเทศฮังการี และยังมีทะเลสาบอื่นๆ ที่มีความสำคัญคือ อาทเทอร์ซี (Attersee) ด้วยพื้นที่ประมาณ 46 ตารางกิโลเมตร และ ทรอนซี (Traunsee) อยู่ในพื้นที่รัฐ โอเบอเริสเทอร์ไรค์ (Upper Austria; Oberösterreich) และทะเลสาบอื่นๆ อีกมากมายที่มีความสำคัญมากสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน เช่น โบเดนซี (Bodensee) , ซาล์ซคามเมอร์กูทส์ (Salzkammerguts) , โวทเฮอร์ซี (Wörthersee) , มิลล์ชะเททเทอร์ ซี (Millstätter See) , ออสเซียเชอร์ ซี (Ossiacher See) , ไวส์เซ่นซี (Weißensee) , โมนด์ซี (Mondsee) , โวล์ฟกังซี (Wolfgangsee) เป็นต้น

แม่น้ำ (Flüsse)

เศรษฐกิจ
เป็นแบบเสรีนิยมผสมสังคมนิยม โดยรัฐมีบทบาทในอุตสาหกรรม และวิสาหกิจหลัก เช่น อุตสาหกรรมขั้นปฐม การผลิตกระแสไฟฟ้า ธนาคาร และกิจการสาธารณูปโภค สาเหตุที่รัฐได้เข้ามาจัดการบริหารแบบรวมศูนย์ ก็เพื่อป้องกันการครอบครองจากโซเวียตภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ออสเตรียจึงเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และได้พัฒนาเศรษฐกิจแบบตลาดได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่สูง รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นพรรคขวา ได้มีแผนที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจการของรัฐเพิ่มเติม อันจะทำให้รัฐบาลออสเตรียมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจลดลง และในช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างแบบ Social Partnership ในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70 ได้ลดน้อยลงตามเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปลี่ยนไป รัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งนำโดยพรรคฝ่ายซ้ายสังคมนิยมจึงมีนโยบายชะลอการแปรรูปรัฐวิสาหกิจลง และเป็นที่คาดว่า จะมีนโนบายที่ทำให้ความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปแบบ Social Partnership ต่อไป

ประชากร
จากการสำรวจในปี 2549 ประเทศออสเตรียมีประชากรโดยประมาณ 8,260,000 คน อายุขัยเฉลี่ยของประชากรหญิงสูงกว่าประชากรชาย ประชากรหญิงออสเตรียมีอายุเฉลี่ย 82.1 ปี ส่วนประชากรชายออสเตรีย 76.4 ปี ในประเทศออสเตรียส่วนใหญ่ประชากรจะเป็นผู้สูงอายุ และเนื่องจากค่าครองชีพในประเทศออสเตรียอยู่ในอัตราสูงมาก จึงมีผลในการส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ของประชากรลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งอัตราการเกิดใหม่ของประชากรอยู่ที่ 0.45% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

วัฒนธรรม
ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 73.6 คริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ร้อยละ 4.7 มุสลิมร้อยละ 4.2 อื่นๆ ร้อย ละ 3.5 ไม่ระบุร้อยละ2 ไม่นับถือศาสนาร้อยละ 12

ศาสนา
74.1% ของจำนวนประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 4.6% ของจำนวนประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์, ประชากรจำนวนประมาณ 180,000 คน นับถือนิกายคริสต์นิกายออโธด็อกส์, ประชากรจำนวนประมาณ 8,140 คนนับถือนิกายยิว, ประชากรจำนวนระหว่าง 15,000-338,998 คนนับถือศาสนาอิสลาม (ประเทศเริ่มมีศาสนาอิสลามมาตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1912) , ประชากรจำนวนมากกว่า 10,000 คนนับถือศาสนาพุทธ และประชากรจำนวน 20,000 คนเลือกที่จะไม่นับถือศาสนาใด ยึดหลักความเป็นกลาง (จากผลสำรวจในปีพุทธศักราช 2544 หรือปีคริสต์ศักราช 2001)

ดนตรีในแต่ละยุคของออสเตรีย
ดนตรีของออสเตรียในยุคที่ศาสนาเจริญรุ่งเรือง คือ ช่วงยุคกลาง ซึ่งมีลักษณะเหมือนดนตรีในประเทศแถบยุโรป แต่หลังจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เพลงที่ร้องในโบสถ์ เช่น เพลงสวดเกรกอเรียน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอิตาลีก็แพร่หลายเข้ามา และในศตวรรษที่ 18โอเปราที่มาจากอิตาลีก็ได้รับความนิยมในพระราชวังเป็นอย่างมาก หลังจากศตวรรษที่ 18ออสเตรียก็โด่งดังเรื่องดนตรีตลอดช่วงระยะเวลากว่า 300ปี โดยเฉพาะช่วงกลางศตวรรษที่ 18จนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 วอลฟ์กัง อามาเดอุส โมซาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart : ค.ศ. 1756-1791)ฟรันซ์ โจเซฟ ไฮเดิน (franz Joseph Haydn : ค.ศ.1732-1809)ฟรันซ์ ชูแบร์ท (Franz schubert : ค.ศ.1797-1828)โยฮันน์ สเตราส์ที่1และ2 (Johann strauss 1 : ค.ศ.1804-1849,Johann strauss 2 : ค.ศ.1825-1899) ด้วยกันทั้งสิ้น ในยุคนี้ดนตรีคลาสสิกในบรรดาบทเพลง คอนเชอร์โต (Concerto) และซิมโฟนี (Symphony)ล้วนพัฒนาจากโซนาตา (Sonata)ทั้งสิ้น เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 20กล่าวว่าคีตกวีชื่อ อาโนลด์ เชินแบร์ท เป็นผู้เริ่มดนตรีแบบไม่มีบันไดเสียงไดอาโทนิกและบันไดเสียงไมเนอร์ที่เป็นทฤษฎีพื้นฐานของบทเพลงแถบตะวันตก และหลังจากที่เชินแบร์กเสียชีวิต ลูกศิษย์ของเชินแบร์กได้พัฒนาแนวคิดและนำเสนอดนตรีแบใหม่โดยต้นกำเนิดจากทฤษฎีของเชินแบร์กที่ผสมผสานเสียงดนตรีคลาสสิกกับดนตรีพื้นบ้านของออสเตรียให้เกิดเสียงไพเราะที่ทำให้รู้สึกอิสระ นุ่มนวลและอบอุ่น








ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.wikipedia.com/ จ๊า
4 Responses
  1. Basz Jo _ around the world Says:

    น่า ไปซื้อบ้า น อยู่ ซักหลั ง 55+

  2. ไม่ระบุชื่อ Says:

    สวยมากค่ะ อยากมีบ้านที่เปิดประตูแล้วเจอวิว แบบนี้จังอ่ะ

  3. nina Says:

    is very nice. i already been austria

  4. ไม่ระบุชื่อ Says:

    austria very beautiful

แสดงความคิดเห็น

abcs